นโยบายการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมทางธุรกิจ
บริษัทเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยการกำกับดูแลกิจการที่ดีแสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
อีกทั้งการมีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดียังเสมือนเป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท โดยบริษัทมีการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งแบ่งได้เป็น 5 หมวด ดังต่อไปนี้

นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งครอบคลุม 5 หมวด ดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น โดยระบุไว้ในนโยบายบรรษัทภิบาลอย่างชัดเจนที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท มีสิทธิในการได้รับใบหุ้นและสิทธิในการโอนหุ้น สิทธิในการได้รับสารสนเทศที่เพียงพอ ทันเวลา และในรูปแบบที่เหมาะสมต่อการตัดสินใจ สิทธิของผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญของบริษัท สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการ สิทธิในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และสิทธิในส่วนแบ่งผลกำไร
- ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการได้รับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและข้อมูลที่เกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่จัดประชุม วาระการประชุม กฎเกณฑ์และวิธีการในการเข้าร่วมประชุม ซึ่งในปี 2564 บริษัทจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในวันที่ 26 เมษายน 2564 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) โดยบริษัทได้เผยแพร่เอกสารการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และบริษัทได้ส่งหนังสือเชิญประชุมซึ่งระบุรายละเอียดของวาระการประชุม ความเห็นของคณะกรรมการบริษัท ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุม พร้อมทั้งรายละเอียดของ วัน เวลา สถานที่จัดประชุม แผนที่ พร้อมทั้งแนบ รายงานประจำปี และหนังสือมอบฉันทะแบบ ข. ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2564 (ล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุม) โดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีนโยบายที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือหุ้นโดยการเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้น ที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง และในวันที่ 30 ตุลาคม 2563 บริษัทได้แจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.bangkokchainhospital.com ในส่วนข้อมูลสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเสนอวาระการประชุมสำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยมีระยะเวลารับข้อมูลถึงวันที่ 29 มกราคม 2564
- ในวันประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลงทะเบียนและนับคะแนนเพื่อให้ผลคะแนนที่มีความชัดเจนและโปร่งใส อีกทั้งบริษัทได้เชิญบุคคลอิสระจากบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายมาเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมและตรวจสอบการลงคะแนนและนับคะแนนเสียง เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้อง ทั้งนี้ การประชุมสามัญประจำปี 2564 คณะกรรมการบริษัทได้เข้าร่วมประชุมครบทุกท่านและสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมและใช้สิทธิ์ออกเสียงในการประชุม หรือมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าร่วมประชุม หรือกรรมการอิสระคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ออกเสียงแทนในกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็น ขอคำอธิบาย หรือตั้งคำถามได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นสำคัญจะถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นโดยเลขานุการบริษัท
- ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้นำส่งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามระเบียบข้อบังคับภายใน 14 วัน ภายหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงได้เผยแพร่รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัท www.bangkokchainhospital.com ในส่วนข้อมูลสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไปได้รับทราบรายงานการประชุมอย่างสะดวกรวดเร็ว
- บริษัทมีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
- บริษัทมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น หากมีกรณีที่บริษัทเห็นว่ากรรมการท่านใดเข้าข่ายที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ กรรมการท่านนั้นจะงดออกเสียงลงคะแนน โดยบริษัทได้กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นและความสมเหตุสมผลของรายการระหว่างกันเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดเผยถึงรายการระหว่างกันที่เกิดขึ้นในงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
- ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้แจ้งข้อมูลในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับวาระการประชุมอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจ เช่น วาระการจ่ายเงินปันผล วาระการแต่งตั้งกรรมการ วาระการพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการ วาระการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดค่าสอบบัญชี และวาระการพิจารณาเรื่องสำคัญของบริษัท เช่น การแก้ไขข้อบังคับของบริษัทการออกและเสนอขายหุ้นกู้ เป็นต้น
- บริษัทมีการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้หนังสือมอบฉันทะในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเองโดยการเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 ท่าน เป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้น
- บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิ์ในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล รวมทั้งได้แจ้งข่าวสารผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 และเว็บไซต์ของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทสำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยมีระยะเวลารับข้อมูลถึงวันที่ 29 มกราคม 2564
- บริษัทกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารทุกคนรายงานการถือครองหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำ
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน
คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังนี้
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ด้วยความโปร่งใส ระมัดระวังรอบคอบและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
- นำเสนอรายงานสถานภาพของบริษัท ผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน ข้อมูลบัญชี และรายงานอื่น ๆ โดยสม่ำเสมอและครบถ้วนตามความจริง
- แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบถึงแนวโน้มในอนาคตขององค์กรทั้งในด้านบวกและด้านลบซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ มีข้อมูลสนับสนุนและมีเหตุผลอย่างเพียงพอ
- ไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลของบริษัทซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนหรือดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับองค์กร
2. พนักงาน
บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัท ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริม และผลักดันให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายที่จะดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีสภาพการจ้างงานที่ยุติธรรม มีสวัสดิการที่เหมาะสม มีโอกาสที่จะพัฒนาความก้าวหน้า รวมทั้งมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับต่าง ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
- จัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน
- ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ ให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- บริษัทกำหนดค่าตอบแทนให้กับพนักงานอย่างเป็นธรรมเหมาะสมกับหน้าที่รับผิดชอบและความสามารถ รวมถึงการจัดสรรสวัสดิการที่ดีให้แก่พนักงาน อาทิ การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลผ่านโรงพยาบาลในเครือ
- การพิจารณาการแต่งตั้งและการโยกย้าย รวมทั้งการให้รางวัลและการลงโทษ กระทำด้วยความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของพนักงานนั้นเป็นเกณฑ์
- บริษัทถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม โดยได้มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ชัดเจน อาทิ การจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรระดับผู้บริหาร (Excellence Management) ร่วมกับศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บริษัทส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติตามนโยบายประหยัดพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน หรือคุกคาม และสร้างความกดดันต่อสภาพจิตใจของพนักงาน
- พนักงานมีสิทธิ์ในการร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามระบบและกระบวนการที่กำหนด
- รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
3. คู่ค้า
บริษัทดำเนินธุรกิจกับหุ้นส่วน เจ้าหนี้ คู่ค้า และอื่นๆ ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการค้า หรือข้อตกลง ที่ได้ทำเป็นสัญญาอย่างยุติธรรมและมีจริยธรรม โดยคำนึงถึงความสมเหตุสมผลด้านราคา คุณภาพ และบริการที่ได้รับ โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ไม่ดำเนินการที่ทุจริตในการค้ากับคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ กรณีที่มีข้อมูลว่ามีการดำเนินการทุจริตเกิดขึ้น ต้องเปิดเผยรายละเอียดต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและยุติธรรม
- ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ต้องรีบแจ้งให้คู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไข
- ไม่เรียก ไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า
4. เจ้าหนี้
บริษัทปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม โดยจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อกำหนดของสัญญาอย่างเคร่งครัด และไม่ใช้เงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมเงินไปในทางที่ขัดกับวัตถุประสงค์ในข้อตกลงที่ทำให้กับผู้ให้กู้ยืมเงิน ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาได้ บริษัทจะรายงานให้เจ้าหนี้ทราบล่วงหน้า เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
5. ลูกค้า/ผู้ป่วย
บริษัทมุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้า/ผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย จึงได้นำมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการพัฒนาและการประเมินโรงพยาบาลโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขโดยครอบคลุมการทำหน้าที่สร้างเสริมสุขภาพของโรงพยาบาล รวมถึง Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล
6. คู่แข่ง
บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกาการแข่งขันที่ยุติธรรม ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการทุจริตหรือไม่เหมาะสม โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
- ไม่พยายามทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้ายโดยปราศจากความจริง
- Not seeking confidential information of competitors with fraudulent, dishonest, or inappropriate method or in breach of laws.
7. ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
บริษัทดำเนินธุรกิจโดยมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ความมั่นคง สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเหมาะสม และคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- สร้างจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง
- คืนกำไรส่วนหนึ่งเพื่อกิจกรรมที่มีส่วนสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
- ดำเนินธุรกิจโดยให้มีผลกระทบต่อความเสียหายของสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด
- ปฏิบัติและให้ความร่วมมือหรือควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล
- ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของชุมชนและสังคม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างสรรค์ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี และการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นต้น
8. การต่อต้านการทุจริต
บริษัทดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยจัดให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงและตรวจสอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบ ตลอดจนสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความถูกต้องชอบธรรม
โดยหลังจากที่บริษัทได้ผ่านกระบวนการรับรองและเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตแล้วนั้น บริษัทได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อสารทำความเข้าใจกับบุคคลทั้งภายในและภายนอกองค์กร อาทิ การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นผ่านเว็บไซต์ www.bangkokchainhospital.com ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการที่ดี การอบรมและปฐมนิเทศพนักงานเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการแจ้งคู่ค้าและผู้รับเหมา เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างสุจริตและโปร่งใสตามนโยบายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง
9. สิทธิมนุษยชน
บริษัทยึดมั่นที่จะปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเสมอภาค ยุติธรรม และให้เกียรติต่อกัน การปฏิบัติที่เท่าเทียมโดยไม่พิจารณาถึงความแตกต่างด้านเพศ ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ และการละเมิดสิทธิทางเพศ
10. สิทธิทางปัญญา
บริษัทกำหนดให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนที่จะดูแลรับผิดชอบสารสนเทศที่อยู่ในการครอบครอง ไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงโดยมิชอบ ไม่สนับสนุนให้เผยแพร่หรือทำซ้ำเอกสารที่ละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และไม่สนับสนุนให้พนักงานเลือกใช้สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
11. รัฐบาล
บริษัทดำเนินธุรกิจเพื่อการเสริมสร้างและพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปตามครรลองประเพณีธุรกิจทั่วไป
- บริษัทมีนโยบายที่จะเปิดเผยข้อมูลและสารสนเทศ ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สม่ำเสมอ ทันเวลา โปร่งใส และน่าเชื่อถือ รวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ชัดเจนซึ่งแสดงให้เห็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง โดยสามารถดูรายละเอียดได้จากหัวข้อโครงสร้างการถือหุ้น รวมถึงการกำกับดูแลกิจการบริษัทซึ่งได้เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 56-1 One Report
- บริษัทได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยผ่านการพิจารณาอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว ทั้งนี้ค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทจะพิจารณากำหนดโดยใช้ข้อมูลค่าตอบแทนของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันและที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ผลประกอบการของบริษัทและผลการดำเนินงานของผู้บริหารแต่ละท่าน
- คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบต่องบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี งบการเงินดังกล่าวจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยเลือกใช้นโยบายการบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวัง และประมาณการที่ดีที่สุดในการจัดทำ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน และบริษัทได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงินและระบบการควบคุมภายในของบริษัท
-
บริษัทมีนโยบายที่จะให้มีผู้ดูแลงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้ ทันเวลา และโปร่งใส รวมทั้งเพื่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก เช่น ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
โดยมีสรุปกิจกรรมหลักใน ปี 2564 ที่ผ่านมา ดังนี้
กิจกรรม จำนวนกิจกรรม งานประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 1 ครั้ง การประชุมนักวิเคราะห์ 4 ครั้ง กิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน 4 ครั้ง แถลงผลประกอบการต่อสื่อมวลชน 4 ครั้ง กิจกรรมพบนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ 16 ครั้ง การเข้าเยี่ยมชมบริษัท / การประชุมทางโทรศัพท์ 70 ครั้ง - โดยบริษัทมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ผลการดำเนินงาน งบการเงิน และสารสนเทศที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ www.set.or.th และเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.bangkokchainhospital.com กรณีที่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อมายังผู้อำนวยการฝ่ายการเงินที่ดูแลด้านนักลงทุนสัมพันธ์ อีเมล์: ir@bangkokchainhospital.com หรือผ่านเว็บไซต์ของบริษัทที่ www.bangkokchainhospital.com หรือโทร: 02-836-9940
การรายงานเบาะแส
ในกรณีที่ต้องการแจ้งข้อร้องเรียน การปฏิบัติที่ขัดต่อกฎหมาย การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท ผู้มีส่วนได้เสียสามารถส่งข้อร้องเรียนตามช่องทาง ดังนี้
- อีเมล: report@bangkokchainhospital.com
- ทางไปรษณีย์: ถึงผู้รับแจ้งข้อร้องเรียน บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ชั้น 22 เลขที่ 44 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
1. โครงสร้างคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อย
คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของบริษัทโดยร่วมกับผู้บริหารระดับสูง วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนกำหนดนโยบายทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง และภาพรวมขององค์กร มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทและผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นอิสระ
2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัทได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจ และงบประมาณของบริษัทตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการจัดให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน และมาตรการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งมีการติดตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอในการประชุมคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างชัดเจนและโปร่งใส
บริษัทได้จัดให้มีระเบียบและแนวทางปฏิบัติของจรรยาบรรณธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงกำหนดบทลงโทษทางวินัยไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีนโยบายและวิธีปฏิบัติสำหรับกรณีที่เสี่ยงต่อปัญหาจริยธรรม โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ขนบธรรมเนียม และประเพณีอันดีงามของสังคม นอกจากนี้ บริษัทยังมีจริยธรรมในเรื่องค่าบริการ ซึ่งผู้รับบริการสามารถขอดูรายละเอียดและค่ารักษาพยาบาลได้ โดยบริษัทได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และมีจริยธรรมในการประชาสัมพันธ์ โดยได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมสถานพยาบาลเอกชน
บริษัทมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน รวมทั้งมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น หากมีกรณีที่บริษัทเห็นว่ากรรมการท่านใดเข้าข่ายที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ กรรมการท่านนั้นจะงดออกเสียงลงคะแนน โดยบริษัทได้กำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นและความสมเหตุสมผลของรายการระหว่างกันเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดเผยถึงรายการระหว่างกันที่เกิดขึ้นในงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนด
3. หลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการใหม่
กระบวนการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทไม่ได้ผ่านคณะกรรมการสรรหา เนื่องจากปัจจุบันบริษัทไม่มีคณะกรรมการสรรหา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการโดยคำนึงถึงความหลากหลายของโครงสร้างของคณะกรรมการ (Board Diversity) โดยคำนึงถึงทักษะที่จำเป็นและยังขาดอยู่ในคณะกรรมการพร้อมด้วยคุณสมบัติด้านต่างๆ โดยให้มีความเหมาะสมด้าน คุณวุฒิ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ผลการปฎิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เข้าเป็นกรรมการของบริษัท
ขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการบริษัทมีดังนี้
- ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง
- ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลไป
- บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่พึงมี หรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีบุคคลซึ่งได้รับเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่จะพึงมี หรือพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้ผู้เป็นประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการปฐมนิเทศให้แก่กรรมการใหม่ทุกท่าน เพื่อให้กรรมการใหม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ขอบเขตอำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการของบริษัทรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีหัวข้อนำเสนอ คือ วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท ประวัติบริษัท โครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างองค์กรและรายชื่อผู้บริหาร แผนธุรกิจ วาระการประชุมคณะกรรมการและรายงานการประชุมในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งแนบคู่มือกรรมการเพื่อให้กรรมการศึกษาแนวทางการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการบริษัทจดทะเบียน
4. การประชุมคณะกรรมการ
คณะกรรมการมีกำหนดประชุมโดยปกติอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น โดยมีการกำหนดวาระชัดเจนล่วงหน้า และมีวาระพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานเป็นประจำ ทั้งนี้ บริษัทได้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมระเบียบวาระการประชุมและเอกสารก่อนการประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้คณะกรรมการได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม
ในการประชุมแต่ละคราวประธานที่ประชุม จะเปิดโอกาสให้กรรมการแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ในกรณีที่มีกรรมการท่านใดที่มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องที่พิจารณา กรรมการจะแจ้งต่อที่ประชุมเพื่อรับทราบ และจะต้องไม่เข้าร่วมในการแสดงความเห็นและไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงมติในเรื่องนั้น ๆ โดยจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่คณะกรรมการจะลงมติในที่ประชุม ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
5. ค่าตอบแทน
บริษัทได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยผ่านการพิจารณาอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว ทั้งนี้ค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทจะพิจารณากำหนดโดยใช้ข้อมูลค่าตอบแทนของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันและที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ผลประกอบการของบริษัทและผลการดำเนินงานของผู้บริหารแต่ละท่าน
6. ระบบการควบคุมและการตรวจสอบภายใน
บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อระบบควบคุมภายในทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการกำหนดภาระหน้าที่ อำนาจการดำเนินการของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารไว้อย่างชัดเจน มีการควบคุมดูแลการใช้ทรัพย์สิน และมีการแบ่งแยกหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ติดตามควบคุม และประเมินผลออกจากกันเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทยังมีการควบคุมภายในที่เกี่ยวกับระบบการเงิน โดยบริษัทได้จัดให้มีระบบรายงานทางการเงินเสนอผู้บริหารสายงานที่รับผิดชอบ
บริษัทได้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในจากบริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบภายในอิสระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้ตรวจสอบภายในของบริษัท โดยประเมินจากความเพียงพอของจำนวนบุคลากร ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและความเป็นอิสระของผู้ตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานในแต่ละส่วนงานของบริษัท ตามแนวทางการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในที่กำหนดไว้
ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของทุกหน่วยงาน ซึ่งจะตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ตามแผนการตรวจสอบประจำปีโดยจะตรวจสอบการลงบัญชี การนำเงินยอดขายฝากธนาคาร และตรวจนับสินค้าคงเหลือ ทรัพย์สินถาวร กรณีมีข้อสงสัยหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติของหน่วยงานใดๆ ฝ่ายตรวจสอบภายในจะทำการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ ทันทีจนกว่าจะสามารถหาข้อเท็จจริงได้ และจัดทำรายงานการตรวจสอบแจ้งให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบอย่างสม่ำเสมอ
7. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร
คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้ แก่กรรมการและผู้บริหารของบริษัท เพื่อให้มีการปรับปรุงและการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องทั้งหลักสูตรการอบรมภายในและภายนอกบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัททุกท่านต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ คณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง โดยคณะกรรมการบริษัทได้ผ่านการอบรมหลักสูตรกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในหลักสูตร Director Certification Program (DCP) หลักสูตร Director Accreditation Program (DAP)
คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้เลขานุการบริษัทจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ สำหรับกรรมการใหม่เพื่อให้กรรมการใหม่ รับทราบบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบาย ข้อมูลธุรกิจ และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจให้กับกรรมการทุกท่าน เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของกรรมการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการเสริมความรู้ให้กรรมการผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ