ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยรับมืออยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ภัยธรรมชาติ ความขาดแคลนของทรัพยากรน้ำ การจัดหาน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้นบริษัท จึงเห็นความสำคัญและต้องการมีบทบาทในการร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยบริษัท ได้ประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้วางแผน บริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร และบริหารจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กร ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำและน้ำเสีย พลังงาน และการบริหารจัดการขยะ

เป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์พลังงาน

บริษัทยังคงมุ่งเน้นดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้ บริษัท ได้ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์การใช้พลังงานจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน 2.โครงการเปลี่ยนใบพัดหอทำความเย็น 3.โครงการฝึกอบรมการอนุรักษ์พลังงาน สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมลงได้ 24,870 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดได้ประมาณ 89,518 บาท

พลังงานไฟฟ้าที่ลดลง

24,870 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

ค่าใช้จ่ายที่ลดลง

89,518 บาท/ปี


โครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

บริษัทได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารและลานจอดรถโรงพยาบาลที่ก่อสร้างใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไปแล้วทั้งหมด 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ปราจีนบุรี และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อรัญประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอกไปได้ถึง 353,306 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1,518,883 บาท/ปี นอกจากนี้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยังอยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มเติม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สระบุรี และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์

ประหยัดการใช้ไฟฟ้าจากภายนอก

353,306 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

ประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้า

1,518,883 บาท/ปี


การสร้างจิตสำนึกในการลดก๊าซเรือนกระจก

โครงการช่วยกันกด

โครงการที่จัดขึ้นเพื่อให้พนักงานในสำนักงานทุกคนลดการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) โดยการพกแก้วหรือขวดน้ำส่วนตัวและช่วยกันกดน้ำจากเครื่องกรองน้ำสะอาด ซึ่งโครงการนี้สามารถลดใช้ขวดพลาสติกได้กว่า 69,750 ขวดต่อปี หรือ 976.5 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,816 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2eq) ต่อปี

ลดใช้ขวดพลาสติกได้กว่า

69,750 ขวดต่อปี

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2,816 kgCO2eq ต่อปี


การเข้าร่วมโครงการ Care the bear

บริษัทเข้าร่วมโครงการ Care the bear ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การรณรงค์ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เดินทางมายังสถานที่ประชุมโดยใช้รถโดยสารประจำทาง หรือเข้าร่วมประชุมผ่านช่องทางออนไลน์แทน รวมถึงลดการใช้กระดาษและพลาสติก

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

633.23 kgCO2eq

เทียบเท่าการปลูกต้นไม้

70 ต้น


การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

บริษัทมีโครงการที่จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำและรักษาทรัพยากรน้ำไว้ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของทุกภาคส่วน ได้แก่ โครงการการรณรงค์ให้พนักงานและผู้ป่วยที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลใช้น้ำอย่างประหยัด โดยปิดน้ำให้สนิททุกครั้งเมื่อไม่มีการใช้งาน นอกจากนี้บริษัทยังมีโครงการบำรุงรักษาระบบน้ำประปา ให้มีประสิทธิภาพ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้เสมอเพื่อลดการสูญเสียน้ำประปาจากอุปกรณ์ชำรุด

มีการตรวจสอบและ บำรุงรักษาระบบน้ำทุก

1 เดือน

มีการนำน้ำเหลือทิ้งกลับมาใช้ในบริเวณที่ไม่กระทบต่อผู้ใช้บริการด้วยระบบรีออสโมซิส


การจัดการของเสีย

การจัดการขยะนับเป็นความท้าทายในการจัดการสิ่งแวดล้อม บริษัทและโรงพยาบาลในเครือ ตระหนักดีว่าธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพจำเป็นต้องใช้วัสดุสิ้นเปลืองจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัท จึงมีความมุ่งมั่นในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล บริษัท จึงยึดแนวทางการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs คือ การลดการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม

ปริมาณขยะทั่วไปที่เกิดขึ้นทั้งหมด

87.04 ตัน

ปริมาณขยะอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

122.42 ตัน

ปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นทั้งหมด

12.39 ตัน

*ข้อมูลเฉพาะโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล